3/09/2009

จากลูกถึงพ่อ ตอนที่ 12 (Letter to Dad No.12)

เรียนผู้สนใจและติดตาม
หนังสือเรื่อง เรียนให้ถึงที่สุด เรียนเพื่อเพื่อนมนุษย์ (170 หน้า)
มีวางแผงแล้วทั่งประเทศเดือนมีนาคม 2552 เป็นต้นไป


เมื่อผ่านเส้นชัย

แม้ว่าการเรียน PhD จะเป็นกระบวนการที่โดดเดี่ยวแต่ก็ทำให้ได้รู้จักตนเองมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องความมุ่งมั่นและอดทน (determination and perseverance) ทำให้ได้รู้จุดแข็ง จุดอ่อนของตัวเอง แม้โดยมากรู้สึกเหมือนทำอยู่คนเดียว แต่จริงๆแล้วได้รับความสนับสนุนจากคนรอบข้างโดยเฉพาะครอบครัว อาจารย์ พี่ๆและเพื่อนๆ

ในเวลา 3 ปีกว่าที่เรียน PhD นั้น ได้เรียนรู้อย่างมาก (steep learning curve) เป็นการเปิดโลกทางด้านสุขภาพ และสาธารณสุขของคนไทย การมีโอกาสได้ติดตามไปดูการเก็บข้อมูลภาคสนามทำให้ได้ สัมผัสและเข้าใจสังคมไทยซึ่งประกอบด้วยชนบทเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งได้มีโอกาสเข้าไปพบสถานีอนามัย โรงพยาบาล สำนักงานสถิติจังหวัด สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัย และ ศูนย์วิจัยต่างๆ เจ้าของทุนที่ให้การสนับสนุน อาจารย์ที่ปรึกษามีความสำคัญอย่างมาก นักวิจัยท่านอื่นๆ เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกของคณะ เพื่อนๆนักศึกษาปริญญาเอกที่คณะที่ช่วยแนะนำแลกเปลี่ยนความคิด เพื่อนนักศึกษาคนไทยที่ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน

ครอบครัวก็ทีส่วนสำคัญมากที่สุด ตัวผู้เขียนมีครอบครัวที่ให้การสนับสนุน และ กำลังใจมาโดยตลอด โดยเฉพาะยามที่ท้อแท้หมดกำลังใจ พ่อผู้เขียนสอนไว้เสมอว่า “คนเราไม่ต้องเรียนหนังสือก็อยู่รอดได้ คนเราเรียนยิ่งสูง ก็ควรยิ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคม” ตัวผู้เขียนนั้นได้มีโอกาสนั้น และ ตระหนักว่า การมีตำแหน่ง PhD นั้นเป็นแค่เพียงจุดเริ่มต้น ปริญญาเป็นเพียงเครื่องมือ “ค่าของคน นั้นอยู่ที่ผลของงาน” การที่ต้นทุนมากนั้น ก็น่าที่จะผลิตผลได้มาก และในทางสายสาธารณะนั้น (public sector) ผลผลิตทางต่อสังคมมากกว่าที่จะเป็นตัวเงิน ซึ่งเป็นเพียงผลพลอยได้ ปริญญาก็เหมือนใบเบิกทางแต่เรายังเป็นคนที่ก้าวไปตามทาง นอกจากนั้น ก็ต้องพยายามไม่ให้ปริญญาค้ำคอ (ego) แต่ยังสามารถที่จะรับฝังคำพิพากษ์ (comments) ที่เป็นเหตุผลได้

อย่างไรก็ตาม ก็มีคนถามผู้เขียนว่ารู้สึกอย่างไรเมื่อได้ PhD แล้ว และความเชื่อต่างๆที่เกี่ยวข้อง (myth) และข้อสงสัยบางอย่างซึ่งก็อยากที่จะสะท้อนและทิ้งท้ายไว้เป็นคำจบ อาทิเช่น


ถ้าให้สรุปสั้นๆ ถึงความหมายของ Doctor of Philosophy (PhD)
แต่ก่อนก็เคยคิดว่าทำไม ถึงแปลเหมือนว่าด็อกเตอร์ทางด้านปรัชญา คิดว่าส่วนหนึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับปรัชญา ศาสตร์และศิลป์ของการเรียนรู้ (โดยเฉพาะศึกษาด้วยตนเอง) ส่วนหนึ่งก็ต้องใช้ความเชื่อมั่นในตนเอง ให้กำลังใจตัวเองเพราะมากครั้งยิ่งเรียนมาก ก็ยิ่งรู้ว่ายังมีอีกมากที่เราไม่รู้ (self-doubt) บางคนที่ยิ่งการศึกษาสูง ประสบความสำเร็จแต่ก็ยิ่งขาดความมั่นใจในตัวเองก็มี (impostor syndrome) แต่บางทีการปล่อยวางก็ไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะถ้าเราอยากให้งานสมบูรณ์แบบ อาจารย์ที่เคารพเคยบอกว่าบางครั้ง “perfection is the enemy of the good” ดังนั้นก็เพียงทำให้ดีที่สุดเท่าทำได้ในเวลาและทรัพยากรที่จำกัด

นอกจากมั่นใจในความสามารถของตัวเองแล้ว ก็ยังต้องเชื่อในหัวเรื่องวิทยานิพนธ์ และประโยชน์ของงาน อาจมีบางครั้งที่โดนตั้งคำถามว่า ทำวิจัยเรื่องนี้ทำไมใครๆก็ทราบกันอยู่ (เช่นเรื่องความไม่เสมอภาคทางสุขภาพ และการใช้บริการทางสุขภาพของประเทศไทย) แต่เราก็เชื่อว่างานของเราเป็นประโยชน์ในการเพิ่มหลักฐานที่เป็นรูปธรรมเพื่อช่วยในการออกนโยบาย (evidence-based policymaking) ซึ่งจะมีผลต่อส่วนรวม

จบไปต้องทำงานวิชาการไหม ? จบ ป.เอก สมัยนี้ไม่จำเป็นต้องสอนในมหาวิทยาลัยอย่างเดียว องค์กรไม่ว่าภาครัฐบาลหรือบริษัทเอกชนต่างๆ ก็มีฝ่ายวิจัยและพัฒนา (research and development) ทั้งในและต่างประเทศ

จบ ปริญญาเอก หางานยากกว่าจริงไหม เพราะว่าวุฒิสูงเกินความจำเป็น (over qualify) ? ก็ไม่จริงเสมอไป การทำ PhD อาจบ่งบอกถึงความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง แต่ขณะเดียวกันก็บ่งบอกถึง ความสามารถในการสำเร็จโครงการวิจัยจากต้นจนจบ การวิเคราะห์ การบริหารเงิน (สำหรับการลงภาคสนาม และการหาทุนเพื่อเสนองานต่างประเทศ) การเขียนรายงาน และการสรุปอภิปราย ซึ่งทักษะเหล่านี้มีความสำคัญต่อการทำงานโดยทั่วไป

คุ้มค่ากับเวลาและเงินที่เสียไปไหม ? สำหรับเวลา ก็ต้องบอกว่าถามตัวเองหลายครั้งเหมือนกัน แต่รู้ว่าอย่างไรก็อยากเรียนให้ถึงที่สุด พอมีโอกาสก็ทำซะเลย อาจเสียเวลาทำงานไปหลายปี แต่ก็เปิดโอกาสให้ตัวเองเข้าไปในสายสุขภาพ เรื่องเงินนั้นก็วางแผนไว้แล้วว่าจะพยายามหาทุนแม้ว่าจะใช้เวลาก็ตาม

อะไรที่ ภูมิใจที่สุดเมื่อเรียนจบ ? ทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นหาห้วข้อได้ ลงทำภาคสนาม เสร็จแต่ละบท รวมเล่ม เย็บเล่มเสร็จ รอผล จนเมื่อได้ PhD เพื่อคุณพ่อ (ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น) และได้ ดร. เพื่อตัวเอง เวลาไม่อยากใช้คำขึ้นต้นว่า นางสาว หรือ นาง)

อะไรที่เป็นหลักยึดมั่น ?
คำสอนของพระพุทธเจ้า ดวงตาเริ่มเห็นธรรมะ อุปสรรคบางทีก็อยู่ที่ใจเราเอง เพราะว่าการเรียน PhD ต้องอยู่กับตัวเองมาก จึงต้องฝึกตน ถ้าวันไหนใจรุ่มร้อน อารมณ์นั้นเหมือนโรลเลอร์โคสเตอร์ เดี๋ยวขึ้น เดี๋ยวลง ไม่ว่าจะเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องงานนี่ ไม่มีสมาธิเลย แต่ก็ยึดมั่นว่า “เดี๋ยวมันก็ผ่านไป” (This too will pass) ตอนที่สุขนั้นก็พองหนอรู้สึกว่าคิดว่าเราจะพิชิตอุปสรรคได้ทั้งปวง พอตอนมันทุกข์มากยุบมาก มันก็ห่อเหี่ยว อะไรก็จะไม่ได้ ไม่เอาทั้งนั้น เราก็ได้แต่ทำให้ดีที่สุด แล้วก็ปล่อยวาง คำสอนท่านอาจารย์พรหมวังโส บอกว่าชีวิตแต่ละช่วงก็มีสุขและทุกข์ปะปนกัน สุขและทุกข์ของนักเรียน สุขและทุกข์ของคนทำงาน ทุกข์และสุขของคนเป็นโสด ทุกข์และสุขของคนมีครอบครัว สุขและทุกข์ของคนที่มีหรือไม่มีลูก แต่ก็เห็นสัจธรรมว่าอยู่กับชั่วขณะ (being in presence) เป็นสิ่งที่ดีที่สุด

จะเรียนปริญญาอีกใบไหม ?
ชีวิตคือการเรียนรู้ ความสนใจไม่เคยจบสิ้น (so much to learn, so little time) ถ้ายังอยากเรียนก็น่าจะเป็นทางจิตวิทยา (psychology) เพราะว่าสนใจตั้งแต่ตอนปริญญาตรี แต่ก็ไม่อยากเอาแต่เรียนแต่ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์สูงสุด ตอนนี้ก็เลยทำงานช่วงวันสุดสัปดาห์เป็นนักบำบัดการพัฒนาการของเด็ก (child therapist) ซึ่งก็มีการอบรมและได้เรียนรู้ไปในการทำงาน (learning on the job) นอกจากนั้นการอ่าน การเรียนรู้ด้วยตัวเองก็สำคัญ (self-taught) ตัวเองก็ยังสนใจทางด้านทางด้านบริหารจัดการ (business administration) การพัฒนาทักษะต่างๆซึ่งก็เป็นประโยชน์ในทำงานไม่ว่าจะเป็นงานภาคสาธารณะหรือธุรกิจ การเรียนรู้ก็ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับงานเสมอไป อาจเกี่ยวกับงานอดิเรกเช่น เรียนทำอาหาร ถ่ายรูป เต้นรำ เรียนภาษา ก็ล้วนได้ความรู้เพิ่มเติมทั้งนั้น

ข้อคิดที่อยากฝากไว้
1) ตามความฝัน ด้วยความตั้งใจ ‘Start following your dream, just do it!’
เตรียมตัวให้พร้อม จำได้ว่าตอนทำงานก็อยากพัฒนาทักษะการวิจัยของตัวเอง ก็พยายามที่ไขว่คว้าจนมีโอกาสมาถึง และก็ไม่เสียดายที่ได้ลองทำให้ดีที่สุด
2) ฉลองความสำเร็จ ‘Celebrate every milestone’
แต่ละความสำเร็จ แม้ว่าจะเป็นขั้นตอนเล็กๆ เป็นกำลังใจให้ตัวเอง โดยเฉพาะกับโอกาสที่ได้มา และแบ่งปันเรื่องราวดีๆกับคนรอบข้าง ครอบครัวและเพื่อนๆ
3) อย่าหยุดหาความสุข ‘Don’t stop living’
โดยเฉพาะในการเรียนป.เอก ซึ่งใช้เวลาหลายปี ก็ต้องพยายามแบ่งเวลาระหว่างงานราษฎร์ งานหลวงและแบ่งเวลาให้ตัวเอง (และครอบครัว)

ก้าวต่อไป (What’s next?)
ตอนนี้ก็ทำวิจัยในตำแหน่ง Post-Doctoral Fellow บางส่วนสานต่อจากงานวิทยานิพนธ์ และก็สมัครหาทุนวิจัย (Grant application) แต่ก็ยังดูความเป็นไปได้ในการกลับไปทำงานกับองค์กรระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกลับเมืองไทย หรือยังอยู่ต่างประเทศก็จะตามความสนใจไป ทุกการเดินก็มีสิ้นสุดเป็นเพียงฉากตอนหนึ่งของชีวิต พร้อมในการเดินทางเส้นต่อไป และตื่นเต้นและรอลุ้นกับบทบาทต่อไปในอนาคต

เมื่อประตูบานหนึ่งปิด อีกบานเปิด แตบางทีเรามัวมอวบานที่พึ่งจะปิดนานเกินไป
จนไม่ได้เห็นอีกบานที่กำลังเปิดให้เรา

“When one door closes, another opens; but we often look so long and so regretfully upon the closed door that we do not see the one which has opened for us.”
-Alexander Graham Bell

0 Comments:

Post a Comment

<< Home