ครูนิด เป็นครูที่สุภาพเรียบร้อย แต่ต้องมาคุมชั้นเรียนที่เต็มไปด้วยนักเรียนเหลือขอ ที่ไร้ระเบียบวินัย และไม่สนใจการเรียนเลย
ไม่ว่าจะพูดจะสอนอะไร พวกเขาก็ไม่สนใจฟัง แถมยังคุยเล่นและกินขนมแข่ง จนครูนิดรู้สึกท้อแท้เป็นกำลัง เกือบจะวางมืออยู่แล้ว
แต่วันหนึ่งเธอได้ความคิดขึ้นมาว่า...น่าจะลองเปลี่ยนวิธีการ
เธอขอให้นักเรียนทุกคนเขียนชื่อนักเรียนทั้งชั้นลงในกระดาษ ชื่อละบรรทัดจากนั้นให้เขียนสิ่งดีๆ หรือลักษณะที่น่าประทับใจของเพื่อนแต่ละคนต่อท้ายชื่อของเขา ...โดยมีเงื่อนไขว่าให้เขียนอย่างซื่อตรงจริงใจ
ครูนิดนำกระดาษเหล่านั้นกลับไปบ้าน แล้วรวบรวมคุณสมบัติดีๆ ที่เพื่อนๆ เขียนถึงแต่ละคน มาใส่ลงในกระดาษแผ่นใหม่ แผ่นละหนึ่งคน
----
วันรุ่งขึ้น ครูนิดนำกระดาษเหล่านั้นแจกให้นักเรียนทุกคนตามรายชื่อ
ปรากฏว่า...หลายคนอ่านแล้วไม่เชื่อว่าตนจะมีสิ่งดีๆอยู่ในตัว
นับแต่นั้นมาบรรยากาศในห้องเรียนก็เริ่มเปลี่ยนไป
นักเรียนตั้งใจเรียนและมีระเบียบมากขึ้น ครูพูดอะไรนักเรียนก็สนใจฟัง
ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นหลังจากที่พวกเขาตระหนักว่า ตนเองไม่ได้แย่อย่างที่เคยคิด
----
ผ่านไปหลายปี นักเรียนเหล่านี้สำเร็จการศึกษา แล้วก็แยกย้ายกันไปตามวิถีทางของตัว
จนกระทั่งได้ข่าวว่าเพื่อนร่วมชั้นเรียนคนหนึ่งเสียชีวิตลง
เพื่อนเก่าๆมาพบกันใหม่ในงานศพของผู้จากไป
แม่ของเขาจำเพื่อนของลูกได้จึงเรียกให้มาหาและสนทนากัน
สักพักก็หยิบกระดาษแผ่นหนึ่งซึ่งเยินและคร่ำคร่ามาให้ดู... แม่บอกว่านี่เป็นกระดาษที่ลูกของเธอพกติดตัวตลอดเวลา
เป็นกระดาษที่ครูได้รวบรวมสิ่งดีๆเกี่ยวกับตัวเขา ที่เพื่อนๆ ได้ช่วยกันเขียน
แม่เล่าว่าข้อความในกระดาษแผ่นนั้นเป็นแรงบันดาลใจ ให้แก่ลูกของเธอตลอดมา... เขามักจะหยิบมาอ่านอยู่เสมอในยามที่มีปัญหาหรือเกิดความท้อแท้
และแล้ว...เพื่อนหลายคนก็หยิบแผ่นกระดาษ ออกมาจากกระเป๋าของตนโดยมิได้นัดหมาย
เป็นกระดาษที่ครูได้มอบให้พวกเขาในวันเดียวกันนั้นเอง พวกเขาพกติดตัวตลอดเวลาเช่นกัน เพราะมันมีความหมายต่อชีวิตของพวกเขามาก
----
กระดาษเพียงแผ่นเดียวสามารถเปลี่ยนชีวิตของคนหลายคนได้ ก็เพราะมันเป็นทั้งสิ่งเตือนใจและให้กำลังใจแก่พวกเขา ว่าพวกเขามีสิ่งดีๆอยู่ในตัว
กำลังใจดังกล่าวมีความหมายมาก เพราะช่วยให้เขามีพลังที่จะต่อสู้กับอกุศลภายในใจ หรือสิ่งไม่ดีที่สั่งสมจนเป็นนิสัย อาทิ ความเกียจคร้าน ความเกเร ความไม่ซื่อตรงและความเห็นแก่ตัว
เป็นเวลาหลายปีที่นิสัยไม่ดีเหล่านี้ สั่งสมและเจริญงอกงามจนหล่อหลอม เป็นบุคลิกที่ชวนระอาและน่ารังเกียจ โดยไม่มีแรงต้านทานจากภายในที่จะต่อสู้เลย
ก็จะต่อสู้ต้านทานไปทำไมในเมื่อฉันเป็นคนที่ไม่มีอะไรดีสักอย่าง ยิ่งคิดเช่นนี้จิตใจที่ใฝ่ดีก็ยิ่งอ่อนแรง และต้องพ่ายแพ้แก่นิสัยที่ไม่ดี จะว่าแล้วในเมื่อเด่นในทางดีไม่ได้ ก็ต้องหาทางเด่นในทางไม่ดี ก็เลยมีแรงหนุนให้ทำสิ่งเลวร้ายมากขึ้น
----
การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนนั้น ทำได้สองแนวทาง
แนวทางแรก » คือควบคุมจิตใจใฝ่ต่ำ หรือพฤติกรรมด้านลบไม่ให้เติบใหญ่ วิธีที่นิยมใช้ คือการห้ามหรือบังคับมิให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ควบคู่กับการขู่ว่าจะลงโทษ หรือการทำให้กลัว นอกจากนั้นได้แก่การทำให้ละอาย เช่น ตำหนิ ต่อว่าประจาน หรือประณาม
แนวทางที่สอง » คือการสนับสนุนจิตใจใฝ่ดีให้เจริญงอกงามและมีกำลัง เพื่อกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมที่ดีงาม อาทิ การชื่นชมความดีที่เขามี หรือส่งเสริมให้เขาเห็นสิ่งดีๆ ในตัว รวมไปถึงการชมเชย
ใช่หรือไม่ว่าทุกวันนี้ผู้คนมักจะนึกถึงแนวทางแรก จนบ่อยครั้งลืมใช้แนวทางที่สอง เราจึงมักถนัดในการตำหนิมากกว่าการชื่นชม
คุ้นกับการลงโทษมากกว่าการส่งเสริม
คุ้นกับการขู่ให้กลัวมากกว่าการสร้างแรงบันดาลใจ
----
น้ำเสียนั้นเราไม่จำเป็นต้องวิดออก เพียงแค่ทดน้ำดีเข้าไปมากๆ มันก็จะไปไล่น้ำเสียเอง
นิสัยไม่ดีก็เช่นกัน เพียงแต่เพิ่มกำลังให้จิตใจใฝ่ดีเท่านั้น มันก็จะไปกำจัดนิสัยไม่ดีเอง
----
Credit : บทความ "ทดน้ำดี..ไล่น้ำเสีย" โดย รินใจ
0 Comments:
Post a Comment
<< Home