4/15/2012

ข้อคิดการเป็นวิทยากร โดย อนุกูล เยี่ยงพฤกษาวัลย์


ทำไมต้องมีวิทยากร

     มักจะมีคำถามว่า “ทำไมต้องมีวิทยากร ในเมื่อเราก็มีผู้เชี่ยวชาญ เก่งงานสามารถสอนได้ หรือให้เรียนรู้จากคนเก่าที่ทำอยู่แล้ว เป็นวิทยากรใครๆก็เป็นได้ เชิญวิทยากรมาก็มีแต่จะมาสร้างความสับสนวุ่นวาย โดยไม่ได้อะไร ที่เห็นๆอยู่วิทยากรมาพูดๆ  รับซอง แล้วกลับไป แต่ทุกอย่างเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เสียเวลา เสียงบประมาณ ฯลฯ”
         นี่คือความเข้าใจของคนทั่วไปที่มีต่อวิทยากรผู้ไม่เข้าใจในความหมาย ความสำคัญและบทบาทหน้าที่  จึงทำให้คนไม่เห็นถึงคุณค่าและความจำเป็นของวิทยากร ในเมื่อท่านทั้งหลายต้องเป็นวิทยากร จึงควรจะเป็นวิทยากรมืออาชีพไม่ใช่มือสมัครเล่น จะต้องทำให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมพอใจ ได้ความรู้เป็นประโยชน์กับชีวิตส่วนตัว ครอบครัวและการงานอาชีพของเขาตลอดจนบรรลุวัตถุประสงค์ของหน่วยงาน ทำให้พฤติกรรมองค์การและผลงานภาพรวมขององค์การดีขึ้น
      ดังนั้นท่านจะต้องตระหนักถึงความสำคัญ และบทบาทหน้าที่ที่แท้จริงของวิทยากร ตลอดจนเทคนิควิธีการฝึกอบรมมีประสิทธิภาพและบังเกิดประสิทธิผลอย่างสูงสุด


ความหมาย
               วิทยากร คือ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงโดยการนำเสนอความรู้ ทักษะ และเจตคติด้วยการสื่อสาร ใช้เทคนิคการฝึกอบรมที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ปฏิบัติให้ดูในสิ่งที่พูด  เป็นต้นแบบอย่างมีศิลปะเพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรม พอใจ ได้ความรู้ เกิดทักษะทำได้จริงและมีพลังเจตคติเชิงบวก  บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่คาดหวังของทุกฝ่าย และสามารถบริหารจัดการสภาพแวดล้อม  ตลอดจนข้อจำกัดได้เป็นอย่างดี

ความสำคัญ
       โครงการฝึกอบรมใดๆ ปัจจัยหลักประการหนึ่งของความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ก็คือ วิทยากร
       ปัจจุบันองค์การหน่วยงานต่างๆ ต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลทุกระดับ ชนชั้น ท่ามกลางความซับซ้อนของสังคมการเมืองและต้องเผชิญกับความรู้ ข้อมูลและเทคโนโลยีทีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วซึ่งบุคลากรจะปฏิเสธ ไม่ปรับตัวไม่ได้ ต้องรับรู้  เรียนรู้ ทำให้ได้ ถ้ายังรักในวิชาชีพ นอกจากนี้องค์การยังมีความจำเป็นต้องมีการโยกย้ายสับเปลี่ยนงานของบุคลากรตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ ดังนั้นบุคลากรจะต้องรอบรู้ มีทักษะทางด้านมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลทุกระดับชนชั้นและมีทักษะใหม่ๆทางด้านเทคโนโลยีด้านการสื่อสารเป็นอย่างดี
          ด้วยเหตุนี้ทุกองค์การจึงจำเป็นต้องคัดบุคลากรที่มีความรอบรู้ มีทักษะเชี่ยวชาญ ปฏิบัติงานในหน้าที่เป็นอย่างดีและสามารถทำหน้าที่เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ ทักษะ และเจตคติให้กับบุคลากรภายในองค์การและบุคคลภายนอกด้วยการสื่อสารทุกรูปแบบอย่างวิทยากรอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและทันเหตุการณ์

จากที่กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่า วิทยากรเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้การฝึกอบรมสัมฤทธิผลหรือล้มเหลว  ทุกคนเป็นวิทยากรได้ แต่จะเป็นวิทยากรที่ดีหรือไม่เพียงใดขึ้นอยู่กับความเข้าใจ  เข้าถึงถึงบทบาทหน้าที่ของวิทยากร และมีการพัฒนาตนเองให้มีความรู้ ความสามารถ ทักษะ บุคลิกภาพ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ซึ่งจะกล่าวในบทต่อไป

ประเภทของวิทยากร

            โดยทั่วไปวิทยากร แบ่งออกได้  ๒ ประเภท คือ
๑.     วิทยากรภายนอกองค์การ
๒.    วิทยากรภายในองค์การ
         วิทยากรทุกคนต้องสามารถทำหน้าที่ได้ทั้ง ๒ บทบาท คือ      
         เป็นวิทยากรภายนอกองค์การ ไปให้การฝึกอบรมหน่วยงานต่างๆ ประชาชนทั่วไป ทั้งที่เชิญมา และ คัดสรรกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่จะต้องไปให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องราวขององค์การและเรื่องอื่นๆที่กลุ่มเป้าหมายต้องรับรู้ รับทราบ ขณะเดียวกันก็เป็นวิทยากรภายในองค์การ ด้วย โดยการฝึกอบรมบุคลากรภายใน ตามที่ได้รับมอบหมาย
         ข้อพึงตระหนักของการเป็นวิทยากรภายในองค์การ
        วิทยากรภายในองค์การ มีจุดเด่นข้อได้เปรียบ คือ อยู่มาก่อน  รู้พื้นที่ รู้คน รู้งาน เป็นที่รู้จักคุ้นเคย จึงเป็นคนกันเอง แต่ขณะที่เป็นจุดแข็งของวิทยากรภายใน กลับเป็นจุดอ่อน ไปด้วยพร้อมกัน นั่นก็คือ ด้วยความสนิทสนมรู้จักกัน คนจะไม่เกรงใจกัน ไม่เชื่อฟังกัน เพราะวิทยากรเองก็อาจจะ จุดด้อยในตัวเหมือนกัน หรืออาจจะลำเอียงชอบใคร ไม่ชอบใครเป็นพิเศษ  จึงบริหารจัดการ ควบคุมการฝึกกอบรมได้ยาก ถ้าบารมีของตนมี ไม่มากพอ ผู้บังคับบัญชาไม่สนับสนุนอย่างจริงจัง ดังมีคำกล่าวว่า

“ ถ้าจะดัง ต้องให้ไปดังนอกบ้านก่อน แล้วค่อยกลับมาดังในบ้าน คนเขาจะยอมรับ”  แต่เราคงไม่มีเวลา เราจะต้องทำให้ได้ คือ เกิดที่นี่ และดังที่นี่ แล้วค่อยไปดังที่อื่น
        แนวทางป้องกันปัญหาที่จะเกิดกับวิทยากรภายใน  ก็คือ
๑.           วิทยากรต้อง หมั่นฝึกฝนทบทวนให้มีความรู้ ความสามารถเชี่ยวชาญ ชำนาญ รู้จริง จนมั่นใจ ตอบได้ทุกคำถาม  หากตอบไม่ได้ ทำไม่เป็น ต้องพยายามเสาะแสวงหาคำตอบ มาทำให้ผู้สงสัยกระจ่าง แจ่มแจ้ง ชัดเจน ให้ได้
๒.       สร้างความสัมพันธ์ จัดระยะให้พอเหมาะ ไม่มากเป็นพิเศษกับบางคน ควรดูแลห่วงใยทั่วถ้วน คลี่คลาย สลายปัญหา เป็นที่พึ่งอย่างเป็นธรรม แต่ระวังอย่าเป็นคนเจ้าปัญหา หรือเป็นผู้สร้างปัญหาเสียเอง
๓.        ต้องทำตัวเป็นตัวอย่าง โดยเฉพาะงานในหน้าที่รับผิดชอบ และความประพฤติส่วนตัวและครอบครัว

ข้อพึงตระหนักของการเป็นวิทยากรภายนอกองค์การ
๑.     งานมอบหมายจากองค์การ ให้ไปเป็นวิทยากรภายนอกให้จัดเป็นความสำคัญอันดับแรก
๒.   การไปเป็นวิทยากรภายนอกโดยได้รับเชิญเป็นการส่วนตัว  ให้จัดเป็นงานอันดับรอง ควรจะให้เชิญมาในนามของต้นสังกัด
๓.    ทุกครั้งที่ไปเป็นวิทยากรภายนอก ต้องเตรียมการให้ดีที่สุด เพราะท่านไปในนามขององค์การต้นสังกัด จะผิดพลาดไม่ได้




0 Comments:

Post a Comment

<< Home